การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้สภากาชาดไทยและโรงพยาบาลทั่วประเทศขาดเลือดอย่างหนัก เพราะผู้ป่วยโรคเลือดและผู้ป่วยวิกฤตที่ต้องการเลือดมีเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น แต่จำนวนคนบริจาคกลับลดลงอย่างมากเนื่องด้วยสถานการณ์ที่สร้างความสับสนและไม่มั่นใจว่าการให้เลือดจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงหรือไม่ สถานบริจาคมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดอย่างไร และมีมาตรการอะไรบ้างที่ทำให้เรากล้าไปบริจาคกันในช่วงนี้มากขึ้น
ครั้งนี้ เราชวนทำความเข้าใจเรื่องการบริจาคเลือดในสถานการณ์โรคระบาด ไปพร้อมๆ กับกำจัดความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการบริจาคเลือด รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ที่ทำให้เราสามารถ #saveคนป่วยวิกฤต ได้อย่างเข้าใจ
ทำความเข้าใจพื้นฐาน ใครบ้างที่บริจาคไม่ได้
เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ยินดีให้เลือดนั้นจะต้องเป็นคนที่รู้สึกสบายดี มีร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บไม่ป่วย และไม่มีโรคประจำตัว โดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ระบุคุณสมบัติของคนที่ไม่สามารถบริจาคเลือดเอาไว้หลายข้อ เราเลือกมาบอกต่อเฉพาะหัวข้อพื้นฐาน เช่น คนที่มีน้ำหนักตัวไม่ถึง 45 กิโลกรัม คนที่พักผ่อนไม่เพียงพอ (ในทีนี้คือนอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมง ไม่ควรให้เลือด) คนที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ผิวหนังเรื้อรัง วัณโรค หรือภูมิแพ้อื่นๆ รวมถึงโรคความดัน เบาหวาน หัวใจ ตับ ไต ไทรอยด์ หรือโรคเกี่ยวกับเลือด
ไปรับวัคซีนโควิด-19 มา ก็บริจาคได้
ตามข้อมูลจากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย วันที่21 พฤษภาคม 2564 ที่อัพเดตล่าสุดชี้แจงว่า ผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองจาก อย.*ได้แก่ Sinovac, AstraZeneca, Johnson & Johnson, Moderna, Sinopharm และ Pfizer สามารถบริจาคเลือดได้หลังรับวัคซีน 7 วัน แต่หากมีอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน ข้อมูลอัพเดตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) วันที่ 24 มิถุนายน 2564 แนะนำให้รอจนหายดีแล้วเว้น 7-14 วัน โดยพิจารณาดูตามความรุนแรงของอาการ จากนั้นก็สามารถบริจาคโลหิตได้ แต่อย่าลืมแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบเพื่อประเมินร่างกายก่อนบริจาคด้วย
จะผ่าตัดเล็กหรือใหญ่ก็ให้เลือดได้ แต่ต้องรอก่อน
มาทำความเข้าใจข้อแตกต่างระหว่างการผ่าตัดเล็กใหญ่กันก่อน ผ่าตัดเล็ก คือการผ่าตัดที่ใช้ยาชาเฉพาะที่ ผู้ป่วยเสียเลือดจำนวนไม่มาก แต่มีบาดแผลซึ่งอาจเป็นทางเข้าของเชื้อโรคได้ เช่น ผ่าตัดฝีเฉพาะจุด ฯลฯ ส่วนการผ่าตัดใหญ่ คือ การผ่าตัดที่ต้องดมยาสลบและมีการใช้เครื่องช่วยหายใจ มีการเสียเลือดจำนวนมาก เช่น การผ่าตัดกระดูกสันหลัง รวมทั้งการผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้อง ฯลฯ
เช่นนั้นแล้ว ในกรณีผ่าตัดเล็ก ให้เว้น 7 วัน ถึง 1 เดือน เพื่อให้แผลหายสนิท จึงจะบริจาคได้ และการผ่าตัดใหญ่ ให้เว้น 6 เดือน หรือกรณีที่การผ่าตัดนั้นมีการให้เลือดร่วมด้วย ให้เว้นไปเลย 1 ปี เพื่อให้ร่างกายกลับมามีสุขภาพแข็งแรงและแผลหายสนิท จึงจะบริจาคได้ หรือสรุปให้เข้าใจได้ง่ายๆ คือ ผ่าตัดใหญ่มา รอ 6 เดือน ผ่าตัดเล็ก รอ 1 เดือน นั่นเอง
มีรอยสัก บริจาคได้
ต้องบอกว่าการห้ามคนมีรอยสักบริจาคเลือดเป็นความเข้าใจผิดที่ส่งต่อกันมาอย่างไม่รู้ว่าใครเริ่ม แต่ในความเป็นจริงคือ คนมีรอยสักไม่ได้ถูกห้ามบริจาคเลือดตลอดไป แต่ให้เว้น 1 ปี จึงจะบริจาคได้ รวมถึงเจาะหู ฝังเข็ม ลบรอยสัก ล้วนอยู่ในเงื่อนไขเดียวกัน
ส่วนการทำหัตถการด้วยเทคนิคปลอดเชื้อในโรงพยาบาลนั้นไม่จำเป็นต้องรอถึง 1 ปี หรือถ้าได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสด้วยวิธี Nucleic Acid Testing (NAT) ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติและภาคบริการโลหิตแห่งชาติ เว้นเพียง 4 เดือนก็บริจาคได้แล้ว แต่ถ้าไม่ได้ตรวจหาเชื้อไวรัส หรือไม่มั่นใจในสถานที่ที่ไปรับบริการ ให้เว้น 1 ปี เพื่อความชัวร์ เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่สามารถติดต่อได้ทางเลือดโดยเฉพาะ
เช็กตัวเองและสถานที่ให้ชัวร์ ไม่ต้องกลัวติดเชื้อกลับมา
หลายคนมีความกังวลว่าการบริจาคเลือดในสถานการณ์โรคระบาดจะทำให้เสี่ยงในการได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เลยทำให้ไม่กล้าให้เลือดในช่วงนี้ ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนเลือดทั่วประเทศและทั่วโลก อยากบอกว่าทุกคนสามารถบริจาคเลือดได้ตามปกติ เพียงแต่ควรเพิ่มความระมัดระวังด้วยการประเมินตัวเองก่อนมาให้เลือด เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและคนอื่น
ที่สำคัญ มั่นใจและอุ่นใจได้ เพราะทางศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติเองก็มีมาตรการคัดกรองเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็น
บริจาคแล้วไม่อ้วน ไม่อ่อนแอ แถมลดความเสี่ยงมะเร็ง
ยังมีความเชื่อแบบผิดๆ ในหมู่ผู้คนว่าการบริจาคเลือดจะทำให้อ้วนและร่างกายอ่อนแอเพราะเสียเลือด! ซึ่งไม่เป็นความจริง ในการบริจาคเลือดแต่ละครั้งเป็นการนำเลือดออกจากตัวเพียง 7% ของปริมาณเลือดทั้งหมดในร่างกาย โดยเจ้าหน้าที่จะพิจารณาจากน้ำหนักตัวของแต่ละคนก่อนบริจาค นอกจากจะไม่เป็นอันตรายอย่างที่เข้าใจผิดกันแล้ว การให้เลือดยังเป็นการกระตุ้นให้ไขกระดูกผลิตเม็ดเลือดใหม่ขึ้นมาแทนของเดิมที่ออกไป ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น ร่างกายแข็งแรง ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งต่างหาก
นอกจากนี้สถาบันการแพทย์และศัลยศาสตร์ Karolinska Institutet ประเทศสวีเดน ยังพบว่าการบริจาคเลือดช่วยลดความเสี่ยงจากมะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นต้น
บริจาคได้ทุก 3 เดือน ไม่ต้องรอปีหน้า
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยกำหนดให้บุคคลที่ต้องการให้เลือดสามารถบริจาคได้ทุก 3 เดือน หรือ 4 ครั้งต่อปี เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริจาค ยกเว้นกรณีจำเป็นที่จะต้องบริจาคก่อนกำหนด สามารถบริจาคก่อนได้ไม่เกิน 14 วัน เพียงปีละครั้งเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเว้นเป็นปีอย่างที่กล่าวอ้างกันมา
บริจาคได้ทุกที่ใกล้บ้านคุณ
สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับการบริจาคเลือดเลย ขอแนะนำว่าที่จริงการบริจาคเลือดมีความสะดวกสบายอย่างมาก สามารถบริจาคได้ที่ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลใกล้บ้าน ห้างสรรพสินค้า ชุมชน หมู่บ้าน โดยเช็กตารางหน่วยเคลื่อนที่บริจาคเลือดได้เลยที่ https://blooddonationthai.com แบบไม่ต้องไปไหนไกล มีรถมารอถึงหน้าบ้าน แค่เตรียมร่างกายให้พร้อม บริจาคได้เลยทันที
MSM ในไทยยังต้องรอ!
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยได้ระบุคุณสมบัติผู้บริจาคโลหิตว่า “ท่านต้องไม่เป็นเพศชายที่เคยมีเพศสัมพันธ์กับเพศชาย ซึ่งอัตราการติดเชื้อเอชไอวีของกลุ่มนี้สูงกว่าประชากรทั่วไป และโอกาสที่จะมีผู้ที่อยู่ในระยะ Window Period (ระยะเวลาที่ได้รับเชื้อ ในร่างกายมีเชื้อจำนวนน้อยไม่สามารถตรวจพบได้ แต่สามารถถ่ายทอดไปยังผู้รับบริจาคโลหิตได้) ในกลุ่มนี้สูงกว่าประชากรทั่วไป ข้อนี้จึงยังเป็นข้อกำหนดไม่รับบริจาคโลหิตอย่างถาวร ถือว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ”
แม้หลายประเทศยืดหยุ่นและพยายามยกเลิกสิทธิในการบริจาคเลือดของกลุ่มชายรักชายแล้ว เนื่องจากเป็นหลักเกณฑ์การปฏิเสธการรับบริจาคเลือดที่เกิดจากโรคติดต่อในปี 1980 หรือกว่า 40 ปีมาแล้ว เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ก็พัฒนาไปมาก ข้อกำหนดข้างต้นจึงอาจไม่สมเหตุสมผลกับสถานการณ์ปัจจุบันเท่าไรนัก แต่สภากาชาดไทยยังไม่มีความเคลื่อนไหวในประเด็นนี้เท่าที่ควร จึงยังเป็นเรื่องที่ต้องขับเคลื่อนและสร้างความเข้าใจด้วยชุดข้อมูลความรู้ใหม่ๆ กันต่อไป
เตรียมตัวให้พร้อมก่อนการบริจาคเลือด